แบบฟอร์มการยื่นร้องเรียน - สำหรับประชาชน

คำชี้แจงเกี่ยวกับการร้องเรียน

        ผู้ร้องเรียน (ในที่นี้หมายถึง ผู้กล่าวหาหรือผู้กล่าวโทษ) จะต้องยื่นคำกล่าวหาหรือคำกล่าวโทษเป็นหนังสือหรือกรอกรายละเอียดเรื่องร้องเรียนตามแบบฟอร์มที่สภากายภาพบำบัดกำหนด โดยต้องระบุชื่อ-ชื่อสกุล หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้กล่าวหาหรือผู้กล่าวโทษประกอบคำกล่าวหาหรือคำกล่าวโทษด้วย

        สภากายภาพบำบัด มีอำนาจหน้าที่พิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดเฉพาะกรณีผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดหรือนักกายภาพบำบัด (ในที่นี้หมายถึง ผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดจากสภากายภาพบำบัด และใบอนุญาตฯ ยังไม่หมดอายุ) ไม่รักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพกายภาพบำบัดตามข้อบังคับสภากายภาพบำบัด ว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพกายภาพบำบัด พ.ศ. 2560 เท่านั้น โดยไม่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดีอาญาหรือคดีแพ่งกับผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดหรือนักกายภาพบำบัดโดยตรง

  • สิทธิการกล่าวหา และสิทธิการกล่าวโทษ
    สิ้นสุดลงเมื่อพ้น 1 ปีนับแต่วันที่ผู้ได้รับความเสียหายหรือผู้กล่าวโทษรู้เรื่องการประพฤติผิดและรู้ตัวผู้ประพฤติผิด ทั้งนี้ ไม่เกิน 3 ปีนับแต่วันที่มีการประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพกายภาพบำบัด ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพกายภาพบำบัด พ.ศ. 2547
  • บุคคลดังต่อไปนี้ สภากายภาพบำบัดไม่สามารถดำเนินคดีจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพกายภาพบำบัดได้
    - บุคคลอื่นซึ่งมิใช่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด (นักกายภาพบำบัด)
    - ผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด (นักกายภาพบำบัด) ที่อายุใบอนุญาตสิ้นสุดลงแล้ว
    - บุคคลที่พ้นจากสมาชิกภาพของสภากายภาพบำบัดแล้ว
  • กรณีการร้องเรียนเกี่ยวกับสถานพยาบาล (โรงพยาบาล/คลินิก) ที่มีการให้บริการด้านกายภาพบำบัด
    เป็นอำนาจของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ตามกฎหมายสถานพยาบาล https://hss.moph.go.th
  • กรณีการเรียกร้อง ค่าสินไหมทดแทน/ค่าเสียหาย ท่านสามารถใช้สิทธิทางศาลได้ด้วยตนเอง หรือร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค